Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

คนบนฟ้า

วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่ 3 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขอน้อมรำลึกถึงพระองค์ที่ทรงสถิตอยู่บนฟากฟ้า นำสิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ดำเนินการและอานิสงส์จากการทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มารายงานถ่ายทอดไว้ ณ ที่นี้


เริ่มจากการเป็นตัวแทนจากประเทศไทย นำเสนอบทความในหัวข้อ “การดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทย” ในการประชุม New Asian Leaders’ Retreat ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม 54 คนจาก 12 ประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี พ.ศ.2546 จัดโดย World Economic Forum (WEF)

งานแรกที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ เป็นการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต (พ.ศ. 2547 – 2550) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ก่อให้เกิดเป็นแหล่งข้อมูลแรกที่ได้พยายามรวบรวมข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และการเรียนรู้ ขยายผลให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง ตกผลึกเป็นเกณฑ์ความเกี่ยวเนื่องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน 3 ระดับ ได้แก่ เข้าข่าย-เข้าใจ-เข้าถึง คือ จากระดับที่มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยธรรมชาติ (เข้าข่าย) สู่ระดับที่มีการศึกษาและทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (เข้าใจ) และปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างได้ (เข้าถึง)

ต่อมาเป็นการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเมือง โดยมีเครื่องมือและเครือข่ายการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น 2 ส่วน ได้แก่ บัญชีแก้มลิง เพื่อช่วยชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและแปลงกลับมาเป็นเงินออม โดยเน้นการบันทึกและบริหารเงินในฝั่งรายจ่าย เพราะปัญหาหนี้สินส่วนใหญ่ เกิดจากการขาดวินัยในการใช้จ่าย (แตกต่างจากบัญชีครัวเรือน ที่มีการบันทึกและบริหารเงินทั้งฝั่งรายรับและรายจ่าย) และโมโซไซตี้ หรือสังคมพอประมาณ (MOderation SOciety) ที่ย่อสั้นๆ ว่า “โมโซ” สำหรับผู้ที่ต้องการปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยคติพจน์ "เน้นสติ เหนือสตางค์"

ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการผลักดันให้เกิดเครือข่ายความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง (Road map) โดยใช้วิธีศึกษาและแลกเปลี่ยนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดที่คล้ายกันในต่างประเทศ เช่น ธนาคารประชาชน (Grameen Bank) ของบังกลาเทศ ขบวนการสรรโวทัยของศรีลังกา ระบบเศรษฐกิจแบบคานธี (Gandhian Economics) เศรษฐกิจที่ว่าด้วยความสุข (Economics of Happiness) ของภูฏาน เศรษฐกิจอิสลาม (Islamic Economics) ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เศรษฐกิจสมานฉันท์ (Solidarity Economy) ของประเทศในแถบละตินอเมริกา เศรษฐศาสตร์สีเขียว (Green Economics) ในยุโรป และเศรษฐศาสตร์มนุษย์นิยม (Humanistic Economics) ตามแนวคิดของ Schumacher ฯลฯ

จากนั้นเป็นการศึกษาวิจัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะเครื่องมือสำหรับการวางแผนในภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้ได้มาซึ่งกรอบแนวคิดในการจัดทำเครื่องมือทางธุรกิจที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ แผนที่กลยุทธ์ความพอเพียง (Sufficiency Strategy Map) และผังการปรับวางระดับความพอเพียง (Sufficiency Alignment Map) ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยประกอบการจัดทำรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน (Sufficiency Economy and Human Development) ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อปี พ.ศ.2550

ตามมาด้วยการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2551) และระยะที่ 2 (พ.ศ.2554-2555) ซึ่งเป็นการศึกษาหลักการและรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจที่กำลังดำเนินกิจการ เพื่อแสวงหาความสำเร็จอย่างยั่งยืนในกรอบของความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และคุณธรรมในการประกอบการ มีเครื่องมือที่เกิดขึ้นจากโครงการ 2 ชิ้น ได้แก่ วุฒิระดับความพอเพียง (Sufficiency Maturity Level) 5 ระดับ สำหรับใช้ประเมินระดับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงขององค์กรธุรกิจ เพื่อใช้ยกระดับจาก “วิธี” การปฏิบัติดำเนินงาน ให้กลายเป็น “วิถี” แห่งการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ กรอบการจัดทำรายงานความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Reporting Framework) สำหรับองค์กรธุรกิจใน 3 ระดับ จำแนกตามเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ (Competence) เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าที่เน้นถึงการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ (Cooperation) และเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าที่เน้นการทำงานร่วมกันในลักษณะของเครือข่าย (Collaboration)

ผลจากการศึกษาและเครื่องมือที่ได้จากการวิจัยส่วนใหญ่ ได้ถูกบรรจุไว้ในหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร เศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินธุรกิจ และเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก ซึ่งสามารถขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://sufficiencyeconomy.com

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ข้าพระพุทธเจ้า จะขอตั้งมั่นในเจตจำนงอันประกอบด้วยธรรม ยึดมั่นในการปฏิบัติดี และสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้แก่สังคมและส่วนรวม สานพระราชปณิธานของคนบนฟ้าสืบไป


[Original Link]