Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ข่าวประชาสัมพันธ์


สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือ "เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงอะไร" ที่เกิดขึ้นจากการค้นคว้ารวบรวมพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และพระบรมราโชวาทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้พระราชทานไว้ในวโรกาสต่างๆ พร้อมด้วยคำอธิบายคุณลักษณะและเงื่อนไขที่ประกอบขึ้นเป็นความพอเพียงตามนัยแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี รวมถึงเงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม ตลอดจนคำอธิบายระดับและจุดหมายของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการจุดประกายให้เกิดการเรียนรู้ และปรับความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้ถูกต้องยิ่งขึ้น

 


สถาบันไทยพัฒน์ ได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ของนักคิด นักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศ จำนวน 13 ท่าน ที่ได้แสดงทัศนะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเทียบเคียงกับแนวคิดและมุมมองสากล ในโครงการจัดทำแผนที่เดินทาง (Road Map) และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาเรียบเรียงเป็นหนังสือ "เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก" (Sufficiency Economy in Global View) และได้รับการสนับสนุนให้จัดพิมพ์เผยแพร่โดย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

 


สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือ "เศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินธุรกิจ" เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานหลักการทางธุรกิจ ได้แก่ Economic Value Added, Balanced Scorecard, Scenario Planning รวมถึงแนวคิดการจัดการความรู้ (KM) หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) และความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยเทียบเคียงกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี รวมถึงเงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยมี บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) เป็นผู้สนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่

 


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ www.sedb.org External Link เสมือนเป็นแหล่งรวมข้อมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และการเรียนรู้เพื่อต่อยอดให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้าง

นอกจากนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเมือง โดยมีเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญ ได้แก่ บัญชีแก้มลิง เพื่อการชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและแปลงกลับมาเป็นเงินออม บัญชีนี้มีความแตกต่างจากบัญชีครัวเรือน ตรงที่บัญชีแก้มลิงจะเน้นการบันทึกและบริหารเฉพาะฝั่งรายจ่าย (เพราะปัญหาหนี้สินส่วนใหญ่ เกิดจากการขาดวินัยในการใช้จ่าย) ขณะที่บัญชีครัวเรือนจะมีการบันทึกและบริหารทั้งฝั่งรายรับและรายจ่าย

ส่วนเครือข่ายการเรียนรู้ที่ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญ ได้แก่ สังคมพอประมาณ (MOderation SOciety) หรือ “โมโซไซตี้” ที่เขียนเป็นคำย่อว่า “โมโซ” ที่มุ่งให้สมาชิกมีวิถีปฏิบัติอยู่ในแนวทางสายกลาง ไม่สุดขั้วไปทางด้านใดด้านหนึ่งตามกลุ่มที่เรียกว่า “ไฮโซ” หรือ “โลโซ” เป็นทางเลือกท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม สำหรับผู้ที่ต้องการปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยคติพจน์ "เน้นสติ เหนือสตางค์"